วันพุธที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

วิถีการกินขนมจีน

วิถีการกินขนมจีน
              การกินขนมจีนของคนไทยแต่ละภาคนั้นมีความหลากหลายแตกต่างกัน ส่วนใหญ่อยู่ที่น้ำแกงที่ราดบนเส้นขนมจีน ที่มีทั้งน้ำยา และแกงเผ็ดต่างๆ นอกเหนือจากนั้นก็ยังต่างกันที่ผักเครื่องเคียงที่กินที่กินกับขนมจีนอีกด้วย
ขนมจีนภาคกลาง ค่อนข้างหลากหลายมีทั้งน้ำยาและแกงเผ็ดต่างๆ น้ำยาภาคกลางเน้นใส่กะทิ รสกลมกล่อม ไม่เผ็ดจัด มีกลิ่นหอมของกระชายโดดเด่น นอกจากนั้นยังมีขนมจีนน้ำพริก น้ำยาป่า แกงเผ็ด แกงเขียวหวาน และขนมจีนซาวน้ำ

ขนมจีนปักษ์ใต้ ขนมจีนเป็นอาหารเช้าของชาวใต้แถบชายฝั่งทะเลตะวันตก ได้แก่ ระนอง พังงา สมุย ภูเก็ต นครศรีธรรมราช กินแนมกับผักเหนาะกระจาดใหญ่ ซึ่งบางครั้งก็มีปลาฉิ้งฉ้างด้วย บางท้องที่อย่างภูเก็ตจะกินกับห่อหมก ปาท่องโก๋ ส่วนที่ชุมพรนั้นกินขนมจีนเป็นมื้อเย็น กินกับทอดมันปลากราย ขนมจีนที่นครศรีธรรมราชมีเอกลักษณ์อยู่ที่ น้ำยา น้ำข้น มัน และหอมเครื่องแกง กินเป็นอาหารเช้าร่วมกับข้าวยำและข้าวแกงปักษ์ใต้
ขนมจีนภาคอีสาน คนอีสานกินขนมจีน น้ำยาป่าปลาร้า ใส่ปลาร้าเป็นตัวชูรส ใส่กระชายโขลกพอหยาบให้น้ำยามีกลิ่นหอมและมีเนื้อกระชาย บางที่ใส่ต้นหอมเพิ่มกลิ่นหอมขึ้นด้วย น้ำยาป่ามีหลายสูตรต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น ถ้าเป็นคนโคราชก็เรียกน้ำยาโคราช นอกจากนั้นยังมีข้าวปุ้นฮ้อนหรือข้าวปุ้นน้ำแจ่ว ที่น้ำแกงไม่มีเนื้อปลาเลย เป็นเพียงน้ำต้มกระดูก ปรุงรสด้วยปลาร้า ใส่พริกสด กระเทียม และมะนาว เป็นต้น

ขนมจีนภาคเหนือ ที่ขึ้นชื่อคือขนมจีนน้ำเงี้ยว น้ำแกงมีสีแดงสีส้ม ใส่ถั่วเน่า ดอกงิ้ว เลือดหมู กระดูกหมู หมูสับ และมะเขือส้ม รสชาติเปรี้ยวอมหวาน น้ำซุปเคี่ยวจากกระดูกหมูจนมีรสหวานกลมกล่อม ใส่ดอกงิ้วซึ่งเป็นดอกสีส้มต้นใหญ่ เกิดในป่าเขา นำส่วนเกสรของดอกมาตากแห้ง มีกลิ่นและรสอ่อนๆ มีความมันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ เวลารับประทานจะตักน้ำเงี้ยวร้อนๆราดบนเส้นขนมจีน โรยหน้าด้วยกระเทียมเจียว ต้นหอม และผักชี กินกับผักกาดดอง ถั่วงอกดิบ แคบหมู พริกแห้งทอดหรือพริกป่นผัดน้ำมัน บีบมะนาวเพื่อตัดรสให้กลมกล่อมขึ้น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น